วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทความ "การบิณฑบาตร และ การฉัน"

การบิณฑบาตร และ การฉัน

วันแรกที่ตื่นมาบิณฑบาตร หลวงพี่เม ท่านนัดว่าออกประมาณตี 5 ครึ่ง
มาเจอกันประมาณ ตี 5:20 ก็ต้องตื่นประมาณ ตี 5 ก็ตื่นไม่ยากมากเพราะนอนเร็ว
ประมาณไม่เกิน 4 ทุ่มก็นอนแล้ว ก็ไม่งัวเงียมาก แล้วก็ยังเป็นแรกๆที่บวช
ความตั้งใจยังเต็มเปี่ยมอยู่ด้วย

แต่วันถัดๆมาต้องทำวัตรเช้าก่อนที่จะไปบิณฑบาตร
ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ครึ่ง เริ่มทำวัตรตี 4 ทำวัตรเสร็จประมาณตี 5
กลับมาแป๊บนึงก็ต้องออกแล้ว ก่อนไปก็ต้องปลงอาบัติ อันนี้ดี ปลงอาบัติก่อน
ออกไปบิณฑบาตร เพื่อให้มีความบริสุทธิ์เป็นเนื้อนาบุญที่ดี
เมื่อญาติโยมใส่บาตรจะได้บุญมาก ปลงเสร็จก็จัดเตรียมบาตร
ย่าม ช้อน ส้อม ห่มจีวร สะพายบาตร เตรียมจะออกไป
จะเห็นว่าแทบไม่มีเวลาว่างเลย ก่อนที่จะออกไป
บางวันที่นอนดึกหน่อย รึว่าหลับไม่ดี ก็จะง่วงมากตอนเดิน บิณฑบาตร
บางวันแทบจะหลับเลยทีเดียว บางวันก็หิว ไม่มีแรงเดิน
ต้องพยายามหาน้ำปานะ ฉันก่อนจะออกบิณฑบาตร
จะได้มีแรงเดิน ไม่งั้นไม่ไหว ทั้งหิว ทั้งง่วง - -"
ก็ถือเป็นการฝึกให้ไม่ขี้เกียจกับการตื่นนอนที่ดีเลย
เพราะบางวันง่วงมาก ก็ต้องฝืนใจ เอาชนะความขี้เกียจ ลุกขึ้นไปให้ได้
บางวัน กลับมาจากทำวัตรไม่ไหวจริงๆ ก็แอบเอนซักแป๊บนึงก็ยังมี
ก็ต้องฝืนใจลุกกันขึ้นมาให้ได้ แค่ 10 กว่าวัน ต้องทำให้ได้ อึ๊บบ

การห่มจีวรออกไปนอกวัด ต้องห่มคลุมคือปิดไหล่ทั้ง 2 ข้างเลย
แล้วสะพายบาตรไว้ เอามือประคองไว้ไม่ให้ฝาบาตรร่วง
แล้วทีนี้จีวรก็ต้องห่มให้ดี ไม่ให้หลุด ลุ่ยได้ ก็หลวงพี่เม สอนเทคนิคให้นิดนึง
คือเอาสายสะพายบาตร ไปเหนี่ยวจีวรที่ไหล่ไว้ เป็นการลอคไว้
ไม่ให้จีวรหลุด ก็ทำให้จีวรไม่ลุ่ยออกมาได้
หลักๆคือต้องระวังฝาบาตร อย่าให้ร่วงได้ มีบางท่านก็ทำร่วงเหมือนกัน
ตอนเช้าตรู่เดินออกมาที่จุดรอ ก็จะได้ยินแทบทุกวัน เสียงฝาบาตรร่วงโคร้ง เคร้ง
ก็ต้องฝึกสติ ระวังกันไป แรกๆ กลัวจะหล่นก็เอาถลกบาตรมัดไว้เลย จะได้ไม่ร่วง
แต่พอโยมจะใส่บาตรก็ต้องรีบแกะเหมือนกัน หุหุ
ที่หนักไปกว่าฝาบาตรร่วงคือ ถลกบาตรหลุด !!!
อันนี้มีสิทธิ์ทั้งบาตร ไม่ใช่แค่ฝา
มีบางวัน ผมก็ทำหลุดเหมือนกัน แต่ยังดีที่ประคองไว้ทัน เกือบไปๆ

บางทีพระอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าใครทำฝาบาตรหล่น เดี๋ยวโยมบ้านนั้นเค้าถือ
ต้องไปยืนกระต่ายขาเดียว หน้าบ้านโยมที่ทำหล่น แล้วท่องอิติปิโสย้อนกลับ ร้อยจบ!!!
ก็คือ ต้องระวังสุดชีวิตนั่นเอง ห้ามเผลอเด็ดขาด
การเดินไปบิณฑบาตร ต้องเอากรรมฐานไปด้วย คือต้องมีสติ มีสมาธิอยู่ตลอด
ญาติโยม เค้าต้องตื่นกันมาตั้งแต่เช้าตรู่ ทำกับข้าวเอง
ทำกับข้าวที่ดีที่สุด ก่อนถวายก็ยังยกมือไหว้ท่วมหัว ไหว้แล้วไหว้อีก
เราต้องตั้งใจให้ดี ไม่งั้นจะเป็นบาปเป็นโทษไปซะ
ต้องทำตัวให้สมกับที่ชาวบ้านกราบไหว้ บูชา

พอบิณฑบาตรไปหลายๆวัน ก็เริ่มจะรู้ว่าโยมบ้านไหนใส่บาตรบ้าน
ซึ่งหลายๆบ้าน แล้วก็ส่วนใหญ่ด้วย โยมใส่ทุกวัน ขยันมาก
ส่วนใหญ่อายุเยอะๆ แต่ที่อายุไม่เยอะก็มี วันไหนออกช้าไปถึงโยมก็รออยู่หน้าบ้านแล้ว
วันไหนออกเร็ว โยมก็รออยู่แล้ว แปลว่าโยมตื่นมาแต่เช้ามืด มาทำกับข้าว
หุงข้าว ออกมารอพระยังงี้ ทุกวันเลย ตั้งใจกันมากๆ
บางคนแก่มากแล้ว เวลาตักข้าวใส่บาตรมือก็สั่นๆ เห็นแล้วน่าปลื้มใจในศรัทธา
ความตั้งใจของโยมมาก เราก็ต้องทำตัวให้สมกับที่โยมศรัทธาให้ได้
ต้องไหว้ตัวเองให้ได้

อีกเรื่องนึงคือเรื่องเงินที่โยมใส่บาตรถวายมา
ตอนก่อนบวช พระอาจารย์บอกว่าไม่ให้พกเงิน
ก็เลยงงๆเล็กน้อยว่า ทำไงกับเงินนี่ดี เก็บไว้ได้มั้ย
หยอดตู้ดีมั้ย รึเก็บไว้ดี เอายังไงดี ลังเลใจแล้วก็กังวลอยู่เป็นวันเลยทีเดียว
ตอนประชุมพระอาจารย์บอกว่า เงินที่ญาติโยมใส่บาตร
ท่านไม่บังคับว่าให้เอาไปหยอดตู้ ท่านเข้าใจว่าฐานะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ใครมีความจำเป็นจะเก็บเอาไว้ก็ได้ ท่านไม่ได้ว่าอะไร
แต่ให้คิดนิดนึงว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเรื่องการศึกษายังงี้ไม่เป็นไร
แต่ถ้าจะเอาไปใช้ ไร้สาระ อย่าทำ เพราะเงินนี้ญาติโยมก่อนถวายมา
ยกมือท่วมหัว ไหว้แล้วไหว้อีก ถวายมา อย่าเอาไปใช้ในทางเสียหาย
มันจะเป็นโทษ พอได้ยินยังงั้นแล้วก็ยังไม่หายลังเลนะ
เพราะว่ากำลังเก็บเงินทำร้านอยู่ เอาไงดี
สุดท้ายรู้สึกว่าเก็บเอาไว้แล้วมันกังวลมากเกินไป ไม่รู้ว่าเก็บไปใช้มันจะเป็นบาป
เป็นความกังวล ความลังเลติดตัวไปรึปล่าว อย่ากระนั้นเลย
เอาไปทำบุญดีกว่า ก็เลยเอาไปหยอดตู้ซะ หลังจากหยอดตู้ไปแล้ว
โล่งเลย มันหายกังวล หายลังเล สบายใจ
ก็เลยได้คำตอบว่า ไม่เก็บไว้ดีกว่า เงินที่ได้จากที่โยมถวายมา จะเอาไปทำบุญให้หมด
พอคิดได้แบบนี้ ก็หมดความกังวลกับเรื่องเงินที่โยมถวายมาเลย
การสละ จากของที่มี มันเป็นแบบนี้นี่เอง
นี่เองความสว่าง ความเป็นบุญเป็นกุศลจากการให้ ความไม่เห็นแก่ตัว

เรื่องการเดินบิณฑบาตร ต้องเดินเท้าเปล่า ทีแรกคิดว่าเดินใส่รองเท้าได้ซะอีก
แต่ก็ดี จะได้รับความรู้สึกที่เท้าได้ดี ทำกรรมฐานขณะเดินไปด้วย
พอเดินจริงๆ วันแรกๆ เจ็บเท้ามาก พื้นถนนตอนเช้าตรู่ ดีว่าไม่ร้อนเพราะ
เริ่มเดินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเลย แต่พื้นจะมีหิน มีกรวดอยู่เต็มไปหมด
เวลาเดินเหยียบลงไป ก้อนเล็กๆก็ตำเท้า บางอันก็ฝังติดเท้าเลย
ก้อนใหญ่นี่ไม่ต้องพูดถึง เหยียบไปทีเจ็บมาก เดินไปๆ รู้สึกเลยว่าเท้ามันเป็นรูๆ
แรกๆเดิน เวลาเจอน้ำขังบนถนน จะเดินหลบ แต่พอเดินไปๆ มันก็มีบางที่ที่มันหลบไม่ได้
ก็ต้องเดินเหยียบน้ำไป ปรากฎว่าน้ำที่ปกติเรารังเกียจ เราเดินหลบ กลับช่วยล้างเอาหินที่ตำเท้าเราอยู่
ออกไปให้ คลายความเจ็บความปวดลงไปได้ บางครั้งสิ่งที่เรารังเกียจ เราไม่ชอบก็อาจจะดีกับเราก็ได้

แล้วเพราะระยะทางที่เดินมันไกล ถึงไกลมาก เลยต้องเดินเร็วนิดนึง
ทำให้บางทีเดินเผลอๆ เหยียบเอาหินก้อนใหญ่ๆเข้า ถึงกับจะทรุดกันเลยทีเดียว
ก็ต้องอดทน ตั้งสติเดินกันไปเป็นการฝึกความอดทน ฝึกสติ สมาธิ
บางวันที่ง่วงนอนนี่ไปกันใหญ่เลย เท้าก็ระบมเป็นรูๆ แล้วง่วงนอนอีก
บางทีมีหิวด้วย ต้องข่มใจ ไม่ให้ความเบื่อ ความขี้เกียจพวกนี้มาครอบคลุมจิตใจได้
ต้องตั้งใจเพื่อญาติโยมที่ตั้งใจตื่นแต่เช้าทำกับข้าวมาใส่บาตรด้วย

ขณะที่โยมใส่ของก็ต้องมองแต่ในบาตรตัวเอง ไม่มองบาตรท่านอื่น
หรือไม่มองหน้าโยม อันนี้รู้สึกมากับตัวเองเลย
พอเผลอไปมองตอนที่โยมใส่บาตรให้พระท่านอื่น
ก็เผลอคิดว่าโยมใส่อะไรนะ มีอะไรน่ากินบ้างนะ เกิดกิเลสทันที
บางทีก็มองหน้าโยมว่าโยมหน้าตาเป็นไงอีก
ต้องตั้งสติ ตั้งใจให้ดีไม่งั้น เราก็ไม่คู่ควรกับของที่โยมเอามาใส่

ส่วนใหญ่โยมที่ใส่บ่อยๆ จะทำกับข้าวเอง มีบ้างที่ซื้อข้าวมันไก่
ซื้ออะไรมาใส่บ้าง แต่ก็เป็นของอย่างดีมาใส่
จะมีไม่เยอะที่ซื้อกับข้าวถุงๆ หน้าวัดมาใส่
พระอาจารย์ก็บอกว่าให้บอกโยมว่าอย่าไปซื้อมาใส่
ให้ทำเอง ดีที่สุด กับข้าวที่เค้าทำขาย คุณภาพไม่ได้เรื่องเลย
แถมร้านค้าที่ขายอยู่หน้าวัด ก็เอาเปรียบวัด ทำของไม่มีคุณภาพ
พระอาจารย์เคยไปถามว่ากับข้าวเนี่ย เคยกินเองมั่งมั้ย
เค้ากลับตอบว่า กับข้าวทำไว้ขายไม่ได้ทำไว้กิน!!
แถมไล่ก็ยังไม่ไป มีเอาคนมาปิดหน้าวัดมั่ง
มายืนด่าพระอยู่หน้าวัดมั่ง - -" ทำกันไปได้พวกนี้ ไม่กลัวนรกซะเลย

แล้วก็ถังสังฆทานอีก พระอาจารย์เอาของในถังที่ขายๆกันมาให้ดู
แต่ละอย่างใช้ไม่ได้เลย มีผ้าอาบผืนนึง ผืนเล็กนิดเดียว ห่มอาบก็ไม่ได้
มียาอยู่กล่องนึง กล่องเบ่อเร่อ มียาอยู่แผงเดียว น้ำอีก ก็มีกลิ่น ฉันไม่ได้
แล้วยังขายแพงมาก ท่านบอกว่าถ้าจะทำบุญก็เอาของที่เราใช้ธรรมดานั่นแหละมาทำ
อย่าไปซื้อถังพวกนี้ มันเป็นแบบคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ เลยไม่ได้เรื่องแบบนี้

เรื่องการให้พรโยมนี่ แรกๆก็งงเหมือนกันว่าจะให้พร หรือไม่ให้พรดี
ไปวันแรกก็ให้พรตามหลวงพี่ไป พอบ่ายไปเรียน พระอาจารย์ก็บอกว่า
ไม่ต้องให้พร เป็นอาบัติ คือจะเป็นอาบัติในข้อที่ว่า
พระสงฆ์ยืนอยู่ ห้ามแสดงธรรมแก่ผู้นั่งอยู่
การให้พรก็ถือเป็นการแสดงธรรม เพราะพรที่ให้นั้นถ้าแปลออกมาก็คือธรรมะอย่างนึง
เช่น อภิวาธนสี ลิสนิจจัง วุฒทา ปะจายิโน จัตตาโร ธรรมา วัตทันติ อายุวัณโน สุขังพะลัง
แปลความประมาณว่า ประพฤติตนอยู่ในธรรมะ แล้วธรรมะจะคุ้มครองให้มีความสุข
ก็คือการแสดงธรรมนั่นเอง ก็เลยไปถามหลวงพี่เมว่า ทำไมมันอาบัติ แล้วยังให้พรกัน
ก็เจอกันชัดๆเลย พอโยมใส่บาตรเสร็จแล้ว ย่อลงไปยกมือท่วมหัวรอรับพรเลย
แบบนี้ไม่ให้ก็ไม่ได้ แล้วหลวงพี่เมก็บอกว่า ความจริงแล้วบุญของญาติโยมที่ใส่บาตร
มันไม่ได้เกิดเพราะพระให้พรหรอก มันเกิดตั้งแต่ตอนที่ญาติโยม ตั้งใจใส่แล้ว
เค้าได้บุญไปแล้ว แต่ที่ให้พรมันเหมือนกับจับต้องได้มากกว่า เป็นรูปธรรมกว่า
อะไรยังงั้น ถามว่าอาบัติมั้ย ก็อาบัติ แต่ไม่ร้ายแรง แล้วก็ไม่เกิดความเสียหาย
ก็เลยให้ เราก็เห็นว่าให้ดีกว่าเหมือนกัน ก็หายสงสัยไป

ตอนแรกที่บิณฑบาตร คิดว่าจะไม่ค่อยมีคนใส่รึป่าว
เดินๆไปแล้วรอโยมนิมนต์รึป่าว แต่พอเดินจริงแล้ว
กลายเป็นว่า โยมใส่เยอะมาก ไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะเยอะขนาดนี้
แต่ก่อนก็เคยเห็นพระแบกของบิณฑบาตรกลับวัด มีเด็กวัดช่วยแบกเยอะแยะ
ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบิณฑบาตรเยอะแบบนั้น
พอมาเจอเองเลยเข้าใจเลยว่า จริงๆ ไม่ได้ต้องการจะบิณฑบาตรเยอะอะไร
แต่โยมใส่เยอะ ไม่รับก็ไม่ได้ เพราะโยมเค้าจะใส่ ไม่รับก็ขัดศรัทธา
ทุกวันเวลาบิณฑบาตรก็จะมีย่าม เวลาเดินไปโยมใส่มาก็เอาของใส่ย่าม
บางทีก็ย่ามเต็ม บาตรเต็ม ยังไม่ถึงจุดพักก็ต้องหิ้วถุงพาสติกกันไป

โยมใส่ของเยอะมาก ฉันไม่หมด

เลือกของตอนบิณ

เลือกของในกะละมัง

การพิจารณาก่อนฉัน

ระเบียบในการฉัน

การฉันในบาตร

เด็กวัดเดินมาเก็บของที่เราเก็บไว้จะฉัน ก็เกิดเสียดายของนั้นขึ้นมา
ครั้งแรกเลย รู้สึกแบบฆารวาตคือ เอ้าเก็บไปทำไม ของชอบเราอุส่าห์เก็บไว้
ไม่ถามเลย อะไรกันเนี่ย ทำไมทำเงี้ย
พอแป๊บนึงก็รู้สึกตัว เอ๊ะ เราเป็นพระนะ ต้องรู้จักสละสิ
การฉันของเราก็ต้อง ไม่ฉันเพื่อยินดี ไม่ฉันเพื่ออร่อย
ฉํนเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้สิ
พอคิดได้แบบนี้ ก็เริ่มรู้จักจะสละของที่ชอบที่อยากกินได้

การเช็ดล้าง

การวางบาตร

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 พฤษภาคม, 2553 13:43

    ดีมากๆเลยพระ พอดีเพื่อนบวชอยู่
    เป็นห่วงมากๆ ไม่รู้ว่าจะลำบากมากหรือป่าว
    ขอบคุณนะคะ ที่ช่วยเล่าให้ฟัง
    รู้สึกสบายใจขึ้นเยอะเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม, 2553 13:07

    วัดนี้ดีมากๆเลยค่ะ 15 วันแห่งการมีคุณค่า

    ตอบลบ
  3. อ่านแล้วได้อะไร อะไร อีกเยอะ ขอบคุณมากจะไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ฟัง

    ตอบลบ